โครงการวิจัย

ชื่อโครงการวิจัย (ภาษาไทย) การออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท
(ภาษาอังกฤษ) Branding and packaging design development for herbal spa and wellness products
รหัสโครงการ :106676
งบประมาณแผ่นดิน ปี 2558
  ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย

จังหวัดชัยนาท เป็นจังหวัดหนึ่งที่จัดอยู่ในเขตยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง) ซึ่งทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดทำไว้ โดยให้มีวิสัยทัศน์ (Vision) ร่วมกันว่า เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติ ตั้งเป้าประสงค์ (Goals) ไว้คือ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP: Gross Provincial Products) ภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี มีรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ของภาคการค้า การบริการ และการขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา (Development Strategies) ภายใต้ศักยภาพด้านการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และธรรมชาติที่มีความโดดเด่น ประกอบกับมีที่ตั้งที่อยู่ใกล้เมืองหลวง และมีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน ประกอบกับการคมนาคมขนส่งสะดวก โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ หอการค้าไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ไว้เป็น 3 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้คือ (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,2556)

1. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน2 (ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง) โดยมีกลยุทธ์ดังนี้
1.1 ปรับโครงสร้างและพัฒนากระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อการส่งออก (ข้าว และปศุสัตว์)
1.2 สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตร
1.3 พัฒนาเชื่อมโยงทางการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
2. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ เพื่อทำให้
เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้ โดยมีกลยุทธ์ดังนี้
2.1 สร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมศักยภาพ
การท่องเที่ยวระยะยาว
2.2 เชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัด และภูมิภาคอื่นๆ
2.3 เร่งทำการประชาสัมพันธ์ตลาดท่องเที่ยวในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
2.4 พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการ
3. พัฒนาและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนภาค
เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยมีกลยุทธ์ดังนี้
3.1 พัฒนาโครงข่ายคมนาคมและขนส่งพื้นฐาน
3.2 พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ

จังหวัดชัยนาท เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย จึงเหมาะสมสำหรับการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร ดังนั้น ประชากรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 จึงประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรมรองลงมา ได้แก่ ด้านการพาณิชย์ ประมาณร้อยละ 6 ด้านการอุตสาหกรรมและการหัตถกรรมประมาณร้อยละ 3 ในส่วนของการผลิตด้านการเกษตรนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของจังหวัด และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดชัยนาท ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและยังทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสาขาการผลิตอื่น ๆ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ในระหว่างปีผลผลิตได้รับความเสียหายจากภาวะฝนแล้ง การระบาดของศัตรูพืชและน้ำท่วม ซึ่งจะพบว่าถ้าปีใดที่ผลผลิตทางการเกษตรดีเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดก็จะดีขึ้นด้วย ในทางกลับกันหากปีใดผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ราคาผลผลิตตกต่ำก็จะส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดชัยนาทซบเซาตามไปด้วย จังหวัดชัยนาทจึงได้มีการเริ่มดำเนินการตามโครงการสร้างเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีวิสัยทัศน์ตามแผนพัฒนาจังหวัดประจำปี 2556 เอาไว้ว่า “เมืองเกษตรมาตรฐาน สืบสานคุณภาพชีวิต” ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญแก่ด้านการเกษตร ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชาติ ด้วยการกำหนดประเด็น ประเด็นยุทธศาสตร์ข้อที่ 1 เอาไว้คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดด้านการเกษตร โดยมีเป้าประสงค์หลักเอาไว้ 3 ช้อคือ 1) ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพปลอดภัยได้มาตรฐาน 2) เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และ3) เพิ่มรายได้เกษตรกร (สำนักงานจังหวัดชัยนาท,มปป.) มีการจัดอบรมความรู้ตามประเด็นยุทธศาสตร์แก่ผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและของจังหวัด แต่จากสภาวการณ์ที่ผ่านมาพบปัญหาว่า ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวภายในจังหวัด ยังขาดความรู้ในเชิงการตลาด การคาดการณ์ การออกแบบ การส่งออกสินค้าและการสื่อสารกับผู้ค้าในระดับสากล (บ้านเมือง,2556) และในแผนพัฒนาจังหวัดในช่วงปีพ.ศ.2556-2559 ก็ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ขึ้นมาคือ เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่จะพัฒนาจังหวัดชัยนาทให้เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษ ที่สำคัญระดับประเทศและการส่งออก เกื้อหนุนอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น และจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ได้จริงตามวิสัยทัศน์การพัฒนา จึงยังคงต้องการและเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชนและจากภาคีทุกภาคส่วน โดยมีการส่งเสริมจากหน่วยงานที่ร่วมกันเป็นภาคีการทำงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยกำหนดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด ในการพัฒนาและส่งเสริมในด้านการผลิต การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน การตลาด และการท่องเที่ยว ประกอบด้วย ส้มโอขาวแตงกวา ผลิตภัณฑ์หุ่นฟางนกเล็ก ผ้าทอพื้นเมือง แชมพูสมุนไพร ผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่และผักตบชวา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานก็ยังมีจำนวนน้อย โดยมีผลิตภัณฑ์ชุมชนได้มาตรฐาน 5 ดาว เพียง 8 ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ผลิตขึ้นมานั้น ยังไม่ตรงตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้จังหวัดชัยนาท ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวหลายแห่ง อาทิ วัดปากคลองมะขามเฒ่า วัดธรรมามูล สวนนก เขื่อนเจ้าพระยา เป็นต้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ แล้วการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาทยังมีอยู่จำนวนน้อย และไม่หลากหลายเท่าที่ควร ทำให้ขาดแรงจูงใจนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ปัญหาอุทกภัยก็ยังส่งผลให้การท่องเที่ยวของจังหวัดซบเซาลง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดลดลงอย่างต่อเนื่อง (จำลอง โพธิ์สุข,2556)

ในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มของการใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อความงามและเพื่อสุขภาพที่ทำจากพืชสมุนไพรในธรรมชาติ เข้ามาเป็นกระแสความนิยมหนึ่ง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้ารายย่อยขึ้นในชุมชน และกำลังได้รับการส่งเสริมจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้หันกลับมานิยมใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น สมุนไพรจึงเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีศักยภาพสูงในตลาดปัจจุบัน เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจึงได้รับความสนใจที่จะพัฒนาให้เป็นสินค้าที่จะบรรเทาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากทำให้เกิดการจ้างแรงงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งหากมีการวางแผนและส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ก็จะช่วยส่งผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศเกิดขึ้นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พบว่าในปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสนใจเรื่องสมุนไพรเป็นอย่างมากเพราะเป็นพืชที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การนำสมุนไพรไทยมาพัฒนาเป็นยาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สปา และเครื่องสำอางจะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศที่ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านั้น นอกจากนั้นเป็นการพึ่งตนเอง ที่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษไทย ดังพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ประชาชนรู้จักความพอดี พออยู่พอกิน ไม่ฟุ่มเฟือยและสามารถดำรงชีวิต อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ สำหรับภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น หากมองในแง่ของธุรกิจมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือกำไรหรือผลตอบแทนเพื่อความอยู่รอดของกิจการ การดำเนินงานทางด้านการตลาดมีความสำคัญ เนื่องจากกิจกรรมทางการตลาดมีบทบาทสำคัญต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค อาทิเช่นการกระจายสินค้า การส่งเสริมการตลาด ส่วนผสมทางการตลาด เป็นต้น สำหรับข้อมูลทางด้านการตลาด พบว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ แต่ปัจจุบันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีน้อยมากไม่ว่าจะเป็นการผลิต ขนาดของตลาด กลไกการตลาดและปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภค กรณีผลิตภัณฑ์สินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในภาวะปัจจุบันนี้ จึงจะเห็นได้ว่า ภาครัฐได้ให้ความสนับสนุนมากขึ้น เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงการสร้างรายได้ การพึ่งตนเองของชุมชนและระหว่างชุมชน โดยการนำทุนทางสังคมของชุมชนที่มีอยู่ ได้แก่ ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณี ทรัพยากรท้องถิ่น ผนวกกับการบริหารจัดการสมัยใหม่ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสังคม และการเรียนรู้สังคม ตลอดจนการให้ความสำคัญของศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้วย วิสาหกิจชุมชนเพื่อสุขภาพและความงามเช่นเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชสมุนไพร จึงเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจจากการใช้ประโยชน์ทั้งในด้านความงาม สุขภาพ และการรักษาโรค ด้วยเหตุนี้จึงควรต้องมีการพัฒนานับแต่ตราสัญลักษณ์ รูปลักษณ์และภาพลักษณ์ของสินค้าและของผู้ผลิต ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากลมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์เกิดการผลิตและการบริการต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน

คณะผู้วิจัยสาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ จันทรเกษม และสาขาวิชาเป็นทีมงานที่มีศักยภาพ เป็นอาจารย์ผู้สอนและนักออกแบบที่มีประสบการณ์ตรงด้านการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์ การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ และมีความพร้อมในการศึกษาวิจัย การสร้างสรรค์และการบริการความรู้ด้านการบริการงานออกแบบแก่ชุมชน ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าศึกษาและสุ่มสำรวจความต้องการงานออกแบบเบื้องต้น(Design Needs Assesment) จากผู้ประกอบการและข้อมูลปัญหาแห่งความต้องการงานออกแบบดังที่กล่าวมาแล้ว จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะของภาคีของภาคการศึกษา ด้วยการศึกษาวิจัยและบริการออกแบบสร้างสรรค์ อันจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ถูกต้องอย่างมีหลักวิชา เพื่อพัฒนาคุณภาพและเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน อันเป็นภารกิจการบริการวิชาการแก่ชุมชนของหลักสูตรสาขาวิชาศิลปกรรมที่สอดคล้องสนับสนุนกับแผนยุทธศาสตร์การแผนพัฒนาจังหวัดชัยนาท ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ของจังหวัดชัยนาทไว้แล้วคือ เป็นเมืองเกษตรมาตรฐาน สืบสานคุณภาพชีวิต ซึ่งมีพันธกิจข้อแรกคือการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ปลอดภัยได้มาตรฐาน อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมโยงกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดได้อีกหนทางหนึ่งด้วย

No comments:

Post a Comment