Saturday, September 20, 2014

กิจกรรมเผยแพร่ความรู้การวิจัย เรื่องแนวทางการออกแบบตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้า สำหรับผู้ประกอบการข้าวจังหวัดชัยนาท

ทีมงานวิจัยสาขาวิชาศิลปกรรม และศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ร่วมกันเป็นวิทยากรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง  แนวทางการออกแบบตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าสำหรับสินค้าวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าว จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 19 กันยายน  2557 ณ  ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท (สวนนกชัยนาท) นำทีมโดย ผศ.ประชิด ทิณบุตร อาจารย์ธีระชัย สุขสวัสดิ์ อาจารย์อดิสรณ์ สมนึกแท่น ศิษย์เก่าปี 2537 นายคณาศักดิ์ พงษ์พาลี ศิษย์ปัจจุบันคือนักศึกษาวิชาเอกออกแบบนิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 3 18 คน ที่เรียนวิชาออกแบบอัตลักษณ์และวิชาออกแบบกราฟิกสำหรับบรรจุภัณฑ์ประจำภาคเรียนที่ 1/2557 ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ ชื่นมื่นทั้งเหล่าวิทยากรและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าว ที่เข้าร่วมสัมมนา จำนวนร่วม 70 คน อาจารย์เองก็ได้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าให้แก่ผู้ประกอบชุมชน อันเป็นการบูรณาการบริการวิชาการและงานวิจัยแก่ชุมชน ได้บูรณาการสาระเนื้อหาวิชาและงานวิจัย ซึ่งนักศึกษาก็ได้ประสบการณ์จริงและเพื่อเป็นโจทย์จริงในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักออกแบบตามหลักปรัชญาของการผลิตบัณฑิตออกสู่สังคมและทำให้สังคมเกิดอุดมปัญญาได้จริง และคงจะมีโครงการอื่นๆอีกตามมาอย่างแน่นอน

Wednesday, September 17, 2014

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย

จังหวัดชัยนาท เป็นจังหวัดหนึ่งที่จัดอยู่ในเขตยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง) ซึ่งทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดทำไว้ โดยให้มีวิสัยทัศน์ (Vision) ร่วมกันว่า เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติ ตั้งเป้าประสงค์ (Goals) ไว้คือ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP: Gross Provincial Products) ภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี มีรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ของภาคการค้า การบริการ และการขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา (Development Strategies) ภายใต้ศักยภาพด้านการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และธรรมชาติที่มีความโดดเด่น ประกอบกับมีที่ตั้งที่อยู่ใกล้เมืองหลวง และมีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน ประกอบกับการคมนาคมขนส่งสะดวก โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ หอการค้าไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ไว้เป็น 3 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้คือ (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,2556)

1. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน2 (ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง) โดยมีกลยุทธ์ดังนี้
1.1 ปรับโครงสร้างและพัฒนากระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อ
การส่งออก (ข้าว และปศุสัตว์)
1.2 สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตร
1.3 พัฒนาเชื่อมโยงทางการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
2. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ เพื่อทำให้

เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้ โดยมีกลยุทธ์ดังนี้

2.1 สร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมศักยภาพ
การท่องเที่ยวระยะยาว
2.2 เชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัด และภูมิภาคอื่นๆ
2.3 เร่งทำการประชาสัมพันธ์ตลาดท่องเที่ยวในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
2.4 พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการ
3. พัฒนาและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนภาค
เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยมีกลยุทธ์ดังนี้
3.1 พัฒนาโครงข่ายคมนาคมและขนส่งพื้นฐาน
3.2 พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ

จังหวัดชัยนาท เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย จึงเหมาะสมสำหรับการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร ดังนั้น ประชากรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 จึงประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรมรองลงมา ได้แก่ ด้านการพาณิชย์ ประมาณร้อยละ 6 ด้านการอุตสาหกรรมและการหัตถกรรมประมาณร้อยละ 3 ในส่วนของการผลิตด้านการเกษตรนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของจังหวัด และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดชัยนาท ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและยังทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสาขาการผลิตอื่น ๆ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ในระหว่างปีผลผลิตได้รับความเสียหายจากภาวะฝนแล้ง การระบาดของศัตรูพืชและน้ำท่วม ซึ่งจะพบว่าถ้าปีใดที่ผลผลิตทางการเกษตรดีเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดก็จะดีขึ้นด้วย ในทางกลับกันหากปีใดผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ราคาผลผลิตตกต่ำก็จะส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดชัยนาทซบเซาตามไปด้วย จังหวัดชัยนาทจึงได้มีการเริ่มดำเนินการตามโครงการสร้างเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีวิสัยทัศน์ตามแผนพัฒนาจังหวัดประจำปี 2556 เอาไว้ว่า “เมืองเกษตรมาตรฐาน สืบสานคุณภาพชีวิต” ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญแก่ด้านการเกษตร ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชาติ ด้วยการกำหนดประเด็น ประเด็นยุทธศาสตร์ข้อที่ 1 เอาไว้คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดด้านการเกษตร โดยมีเป้าประสงค์หลักเอาไว้ 3 ช้อคือ 1) ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพปลอดภัยได้มาตรฐาน 2) เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และ3) เพิ่มรายได้เกษตรกร (สำนักงานจังหวัดชัยนาท,มปป.) มีการจัดอบรมความรู้ตามประเด็นยุทธศาสตร์แก่ผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและของจังหวัด แต่จากสภาวการณ์ที่ผ่านมาพบปัญหาว่า ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวภายในจังหวัด ยังขาดความรู้ในเชิงการตลาด การคาดการณ์ การออกแบบ การส่งออกสินค้าและการสื่อสารกับผู้ค้าในระดับสากล (บ้านเมือง,2556) และในแผนพัฒนาจังหวัดในช่วงปีพ.ศ.2556-2559 ก็ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ขึ้นมาคือ เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่จะพัฒนาจังหวัดชัยนาทให้เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษ ที่สำคัญระดับประเทศและการส่งออก เกื้อหนุนอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น และจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ได้จริงตามวิสัยทัศน์การพัฒนา จึงยังคงต้องการและเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชนและจากภาคีทุกภาคส่วน โดยมีการส่งเสริมจากหน่วยงานที่ร่วมกันเป็นภาคีการทำงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยกำหนดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด ในการพัฒนาและส่งเสริมในด้านการผลิต การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน การตลาด และการท่องเที่ยว ประกอบด้วย ส้มโอขาวแตงกวา ผลิตภัณฑ์หุ่นฟางนกเล็ก ผ้าทอพื้นเมือง แชมพูสมุนไพร ผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่และผักตบชวา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานก็ยังมีจำนวนน้อย โดยมีผลิตภัณฑ์ชุมชนได้มาตรฐาน 5 ดาว เพียง 8 ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ผลิตขึ้นมานั้น ยังไม่ตรงตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้จังหวัดชัยนาท ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวหลายแห่ง อาทิ วัดปากคลองมะขามเฒ่า วัดธรรมามูล สวนนก เขื่อนเจ้าพระยา เป็นต้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ แล้วการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาทยังมีอยู่จำนวนน้อย และไม่หลากหลายเท่าที่ควร ทำให้ขาดแรงจูงใจนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ปัญหาอุทกภัยก็ยังส่งผลให้การท่องเที่ยวของจังหวัดซบเซาลง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดลดลงอย่างต่อเนื่อง (จำลอง โพธิ์สุข,2556)

Chai Nat Brand Research blog

เว็ปบลอกเผยแพร่ความรู้การวิจัย ปีงบประมาณแผ่นดิน พศ.2558 
ชื่อภาษาไทย การออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท
ชื่อภาษาอังกฤษ Branding and packaging design development for herbal spa and wellness products of community enterprise group of Chainat province to connect to cultural tourism.